...ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บบล็อก "งานข้อมูลท้องถิ่น" ของฝ่ายส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง...

27 ธันวาคม 2552

Academic Resource and Information Technology
Muban Chombueng Rajabhat University

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง
.....
เกี่ยวกับ...ARIT
........ตราสำนักวิทยบริการออกแบบโดย ผศ.วิวรรธน์ จันทร์เทพย์ (ปี 2552)
........สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2479 โดยเริ่มจากการสั่งสมหนังสือสำหรับประกอบการเรียนการสอนเก็บรวบรวมไว้ในห้องของอาคารเอกเทศ เพื่อให้อาจารย์และนักศึกษาได้ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ในระยะแรกไม่มีอาจารย์ที่มีวุฒิภาวะทางบรรณารักษ์เข้ามาบริหารจัดการที่ชัดเจน เริ่มปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนเมื่อห้องสมุดได้ย้ายไปอยู่ชั้น 2 ของอาคาร 2 ซึ่งมีอาจารย์ที่มีความรู้ด้านบรรณารักษ์เข้าไปรับผิดชอบ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2514 เป็นต้นมา ผู้บริหารห้องสมุดในระยะแรกได้แก่ อาจารย์รำไพ (มูลเมือง) แสงเรือง เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะหัวหน้าแผนกห้องสมุดคนแรก และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นฝ่ายห้องสมุด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา นับเป็นการบริหารที่มีความชัดเจนมากขึ้น มีการให้บริการเช่นห้องสมุดทั่วๆ ไป เช่น บริการยืม-คืน บริการวารสารและหนังสือพิมพ์ บริการตอบคำถามและช่วยค้นคว้า เป็นต้น แต่การดำเนินการส่วนใหญ่จะใช้อุปกรณ์การทำงานที่ไม่ยุ่งยากและสลับซับซ้อนมากนัก และมีจำนวนคนที่ทำงานเพียง 2-3 คนเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ได้ยกฐานะของห้องสมุดที่เป็นฝ่ายห้องสมุดขึ้นมาเป็นสำนักวิทยบริการ โดยกำหนดให้เป็นโครงสร้างหลักโครงสร้างหนึ่งของการบริการองค์กรที่เทียบเท่าคณะ นับเป็นการยกฐานะของห้องสมุดและให้ความสำคัญของการบริหารองค์กรนี้ ถือเป็นหน่วยงานสนับสนุนการเรียนการสอนที่สำคัญยิ่งของมหาวิทยาลัย ในระยะดังกล่าวมีความชัดเจนในการพัฒนาเป็นอย่างมากมีการจัดสรรงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาจัดการช่วยในการค้นหาหนังสือแทนบัตรรายการ มีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งซีดีรอมและฐานข้อมูลออนไลน์ที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งตัวอาคารห้องสมุดก็เหมาะที่จะรองรับการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งการอบรม สัมมนา และค้นคว้าหาข้อมูลของคณาจารย์และนักศึกษาได้เป็นอย่างดี มีการเพิ่มจำนวนของเจ้าหน้าที่ห้องสมุด พร้อมทั้งการกำหนดภาระงานที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้บริการได้
........ปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงผลักดันและขับเคลื่อนให้ห้องสมุดมีบทบาทในการเป็นแหล่งเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยได้แก่ มาตรฐานห้องสมุด ซึ่งได้กำหนดให้ห้องสมุดในแต่ละชนิดมีมาตรฐานไปในทางเดียวกัน ห้องสมุดในระดับอุดมศึกษาแม้จะสังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยเรียกชื่อเป็นอย่างอื่นก็ต้องอิงมาตรฐานห้องสมุดมหาวิทยาลัย พ.ศ.2529 มาตรฐานห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2544 และมาตรฐานห้องสมุดมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2545 ที่กำหนดไว้ว่า ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาควรมีสถานภาพเท่าหน่วยงานทางวิชาการในระดับคณะ ผู้บริหารห้องสมุดควรขึ้นตรงต่อผู้บริหารสูงสุดของสถาบัน / มหาวิทยาลัย โดยมีคณะกรรมการของห้องสมุดร่วมกันกำหนดนโยบายในการพัฒนา ติดตามดูแลการบริหารงานและการประสานงานต่างๆ ตามความเหมาะสม
........ครงสร้างการบริหารงานห้องสมุดของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ในขณะที่เป็นแผนกห้องสมุดและฝ่ายห้องสมุด ตามลำดับนั้น ผู้บริการองค์กรในขณะนั้นได้ให้ความสำคัญเท่ากับแผนกและฝ่ายอื่นๆ ขององค์กร ส่วนการบริการงานภายในห้องสมุด ไม่มีการแบ่งงานที่ชัดเจน เนื่องจากจำนวนผู้ปฏิบัติงานในห้องสมุดมีน้อย ผู้ที่เข้าไปช่วยทำงานในห้องสมุด ได้แก่ อาจารย์สาขาบรรณารักษ์ ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานมีเพียงวุฒิการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรืออนุปริญญาเท่านั้น สำหรับการบริหารงานภายในห้องสมุดนั้นคือ ช่วงระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2514 – พ.ศ. 2536 การจัดการบริหารงานในขณะที่เป็นฝ่ายห้องสมุดอยู่นั้น มีเพียงการบริการ และงานด้านเทคนิคเท่านั้น การทำงานด้านเทคนิคมีอาจารย์สาขาบรรณารักษ์เป็นผู้ดำเนินงาน ส่วนงานบริการซึ่งเป็นงานลักษณะงานประจำ (Routine) กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ประจำเพียง 1-2 คนเท่านั้น แต่ภายหลังจากปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา ฝ่ายห้องสมุดได้ยกฐานะเป็นสำนักวิทยบริการ ได้มีการจัดองค์กรที่เข้มแข็งขึ้น โดยได้จัดองค์กรภายในแยกเป็น 8 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายเลขานุการ ฝ่ายบริการทรัพยากรสารนิเทศ ฝ่ายสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง ฝ่ายวิทยพัฒนา ฝ่ายข้อมูลท้องถิ่น ฝ่ายวิเคราะห์และพัฒนาทรัพยากรสารนิเทศ ฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยีทางการศึกษา ซึ่งแต่ละฝ่ายได้มีการกำหนดภารกิจที่ชัดเจนเพื่อให้สามารถสนองตอบต่อการเป็นหน่วยงานสนับสนุนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ในระยะนี้ได้มีการเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เพื่อให้รองรับการภารกิจเบื้องต้น มีการกำหนดวุฒิการศึกษาที่เป็นบรรณารักษ์เพิ่มขึ้นรวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ทางด้านโสตทัศนอุปกรณ์ และนักวิชาการคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยงานในห้องสมุด อัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ห้องสมุดตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 เป็นต้นมา มีจำนวนไม่น้อยกว่า 13 ตำแหน่ง
........วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2545 อธิการบดีสถาบันราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิทักษ์ อาจคุ้มวงศ์ ได้เข้ารับพระราชทานป้ายนามอาคารสำนักวิทยบริการ “อาคารบรรณาราชนครินทร์” พร้อมกันกับสำนักวิทยบริการของสถาบันราชภัฏอีก 34 แห่ง จากสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ จังหวัดน่าน ต่อมาในปี พ.ศ.2548 สถาบันราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 และประกาศกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับโครงสร้างหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยระบุให้สำนักวิทยบริการยุบรวมกับสำนักคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และได้ชื่อใหม่ว่า สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีการหลอมรวมภารกิจหน้าที่ของสำนักวิทยบริการเดิมและศูนย์คอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน มีการจัดตั้งหน่วยงานภายในเพียงหน่วยงานเดียวคือ สำนักงานผู้อำนวยการ ส่วนการบริหารงานภายในองค์กรให้กำหนดได้ตามความเหมาะสม
........
ที่มา : สมคิด ดวงจักร์. รายงานการวิจัยเรื่องแนวทางและรูปแบบการจัดการทรัพยากรสารสนเทศห้องสมุดศูนย์ให้การศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง (2549)